
สายพิน แก้วงามประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (ผอ.สทศ.) ตกใจผลคะแนนสอบโอเน็ตของนักเรียนต่ำลง จึงเตรียมจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา ที่มีผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ตต่ำ โดยมีแผนนำร่องพัฒนา ๑๐๐ โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งจะใช้งบประมาณราว ๆ ๑๐๐ ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ และจัดอบรมครู จำนวน ๘๐ ล้านบาท ส่วนอีก ๒๐ ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการติดตามประเมินผลโรงเรียนในรูปแบบเชิงวิจัย หากมองผิวเผินแล้ว ทำให้เห็นว่ามีหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา เป็นเรื่องที่น่าดีใจ แต่หากมองอีกทีจะพบว่า สังคมยังให้ความสำคัญกับคะแนนการสอบค่อนข้างมาก ถึงขั้นเห็นว่าโรงเรียนที่ นักเรียนสอบได้คะแนนโอเน็ตต่ำ เป็นโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ จึงต้องมีโครงการพัฒนา หรือสำนวนของ ผอ.สทศ. บอกว่า “สทศ. อยากกระโดดลงไปให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำ” อาการอยากกระโดดลงมาช่วยเหลือ เป็นอาการทนเห็นโรงเรียนเหล่านี้มีคุณภาพต่ำต่อไปไม่ได้ และเชื่อว่าการกระโดดลงไปช่วยเหลือครั้งนี้จะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพสูงขึ้นจริง โดย สทศ. มีความเชื่อว่า การที่เด็กสอบได้คะแนนโอเน็ตต่ำ น่าจะเป็นเพราะ ประการแรกครูมีคุณภาพไม่ดี จึงต้องฝึกอบรมครู ประการที่สองโรงเรียนเหล่านี้น่าจะขาดซอฟต์แวร์ ประการที่สามต้องปรับปรุงแผนการสอนในรายวิชาที่นักเรียนสอบได้คะแนนน้อย โดยภาพรวม สทศ. มองเห็นว่าโรงเรียนใดได้คะแนนโอเน็ตน้อย เป็นผลมาจากคุณภาพการสอนของครูไม่ดีเป็นประการหลัก รองลงมาคือการขาดแคลนสื่ออุปกรณ์ที่ทันสมัย และยังเห็นว่าการที่เด็กได้คะแนนน้อยสะท้อนความด้อยคุณภาพของโรงเรียน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า คะแนนสอบโอเน็ตคือตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน คุณภาพของครูจริง ? ถ้าปัจจัยอยู่ที่ครูเพียงประการเดียว แสดงว่าถ้าให้ครูในโรงเรียนที่มีคะแนนโอเน็ตสูง ๆ มาสอนเด็กในโรงเรียนที่มีคะแนนโอเน็ตต่ำ ย่อมทำให้เด็กมีคะแนนเพิ่มขึ้นจริง ? ประการต่อมา หากเชื่อว่าคะแนนโอเน็ตสามารถแสดงความมีคุณภาพ หรือด้อยคุณภาพของโรงเรียนได้ จะมีผลทำให้โอกาสทางการศึกษาของเด็กยิ่งน้อยลงไป เพราะโรงเรียนมีชื่อเสียง หรือโรงเรียนที่มีคะแนนโอเน็ตอยู่ในระดับสูงและระดับ กลาง ๆ ยิ่งปฏิเสธนักเรียนที่มีผลการเรียนที่ไม่ดี ทำให้ระบบการสอบแข่งขันเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาเข้มข้นขึ้น แต่ละโรงเรียนจะใช้ระบบการสอบเข้า เพื่อให้ได้เด็ก เก่ง ๆ เข้าเรียน โดยอาจจะไม่พิจารณาเด็กบ้านใกล้ หรือพื้นที่บริการ เพราะการแข่งขันโดยการสอบทำให้โรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้เด็กเก่ง ๆ เป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียน และของครู ส่วนเด็กที่คะแนนไม่ดีก็ต้องเรียนในโรงเรียนที่ถูกตราหน้าว่าด้อยคุณภาพ นอกจากนี้การพิจารณาว่าคะแนนโอเน็ต เป็นตัวชี้วัดความมีคุณภาพของโรงเรียน ย่อมทำให้เด็กที่ทำให้โรงเรียนมีคะแนนต่ำ รู้สึกด้อยค่ามากขึ้นไปอีก หากเด็กไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง จะมีผลดีอะไรต่อสังคม ? อีกทั้งการใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัดความมีคุณภาพของโรงเรียนหรือของครู ย่อมก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่อครูผู้สอน นอกจากถูกประนามกลาย ๆ ว่าสอนอย่างไรเด็กถึงได้คะแนนน้อย แล้วยังมีความคิดจากผู้ที่ควรจะร่วมรับผิดชอบกับครู หากแม้การศึกษาจะไม่มีคุณภาพ แต่กลับเห็นว่าหากคะแนนสอบของเด็กต่ำ ไม่ว่าจะเป็นคะแนนโอเน็ต เอเน็ต หรือ เอ็นที ควรให้มีผลต่อการต่อใบประกอบวิชาชีพครูบ้าง หรือการประเมินวิทยฐานะเกณฑ์ใหม่ ก็จะใช้คะแนนสอบเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินการผ่าน หรือไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะ เสมือนว่าการที่เด็กได้คะแนนน้อย ควรที่จะจัดการกับความด้อยคุณภาพของครูเป็นสำคัญหรืออย่างไร ทั้งที่การมองว่าโรงเรียนที่มีคะแนนสอบโอเน็ตต่ำ เพราะครูมีคุณภาพไม่ดี น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะโรงเรียนเล็ก ๆ ไม่มีชื่อเสียง อยู่ในชนบท ไม่มีโอกาสเลือกเด็ก ซึ่งมักจะได้เด็กที่เรียนอ่อนเป็นส่วนใหญ่ อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เพียงพอ แต่หากพิจารณาความยากง่ายในการสอนแล้ว เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่าเด็กที่มีคะแนนดี ๆ ครูสอนได้ง่าย พัฒนาได้ง่าย และบางทีเรียนกวดวิชาจนล้ำหน้ากว่าที่ครูจะสอนด้วยซ้ำ จึงมีความพร้อมในการเรียนมากกว่าเด็กที่มีพื้นฐานการเรียนด้อย หรือสติปัญญาไม่ค่อยดี และครอบครัวไม่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนเท่าใดนัก แต่เรากลับชื่นชมโรงเรียนดัง Read More …